วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ผลการการศึกษาสภาพปัญหาการใช้แท็บเล็ตพีซีของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1

    ภาพที่ 1 นักเรียนได้รับแท็บเล็ตโครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย



ยุทธนา พันธ์มี1 
Yutthana Punmee1
Abstract
          From the  problem research result of school students Tablet PC – Using in Kamphaeng Phet Education Area one aimed to 1) To study the management, the preparation for knowledge management, environment and learning activities before teaching by Tablet PC for 1st grade student, 2013. The data population analysis by teachers and administrators in school of Kamphaeng Phet Education Area one which has 192 schools with 158 administrators and 209 teachers by Purposive Sampling .The methodology are questionnaires one for administrators and another for 1st grade teachers and all data  were analyzed  by mean score and standard deviation.
          From the research found that 1) the overall of management is 3.83 regarded as good level. The good management aspect are the Tablet PC training and another side should develop is community relation and private company which supported and required Tablet PC – Using knowledge management. Tablet PC – Using knowledge management are teachers and administrators or relevant person should have capacity and skill about teaching educational technologies. Moreover they should have the good quality of educational equipment such as operation system, speed, memory, camera pixel, battery and PC’s capacity 2) The preparation is 3.74 regarded as good level. They had meeting about how to use Tablet PC    more than that they had knowledge management planning evaluation and students’ achievement who used Tablet PC in knowledge management. They should know how to write the integrated lesson plan fit with content and period of time as well as content evaluation, proceed and equipment for study. 3) The environment is 3.82 as in a good level. They had a suitable classroom management such as seats, ventilate, brightness and Tablet PC approach are good but learning by Tablet PC support and public relation such as a poster broad, brochure and internet accessibility(wireless) need to improve. 4) For learning activity is 3.58 as a middle level. They have learning object program to follow up the knowledge management. It’s a medium to support students’ knowledge but they should develop evaluation by learning object to self-learning and integrated lesson plan by Tablet PC.


บทคัดย่อ
              การการศึกษาสภาพปัญหาการใช้แท็บเล็ตพีซีของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการบริหารจัดการ การเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ สภาพแวดล้อม และกิจกรรมการเรียนรู้ ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ตพีซีสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2556 โดยเก็บข้อมูลจากประชากร ได้แก่ ครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1 จำนวนสถานศึกษา 192 แห่ง ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา 158 คน และครูผู้สอน 209 คน โดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วยแบบสอบถามความคิดเห็นจำนวน 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา และฉบับที่ 2 สำหรับครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้สถิติค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
              พบว่า 1)ด้านการบริหารจัดการโดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ย 3.83 ดำเนินการระดับมาก มุมมองที่มีการบริหารจัดการที่ดี คือ การจัดให้มีการอบรมปฏิบัติการใช้แท็บเล็ตพีซี และด้านที่ควรพัฒนา คือ ควรแสวงหาความร่วมมือจากชุมชน และองค์กรเอกชนที่ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้วยแท็บเล็ตพีซี และมีความต้องการด้านการบริหารจัดการ ประการแรก คือ การพัฒนาครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้สามารถมีความรู้และทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา ด้านเทคนิควิธีการสอน ประการที่สอง คือ ด้านสมรรถนะด้านคุณภาพของอุปกรณ์ ได้แก่ ระบบปฏิบัติการ ความเร็ว ความจำ ความละเอียดของกล้อง แบตเตอรี่มีคุณภาพ และสมรรถนะที่มีคุณภาพที่ดี 2)ด้านการเตรียมความพร้อมโดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ย 3.74 ดำเนินการระดับมาก โดยมองว่ามีการประชุมชี้แจงแนวทางการใช้แท็บเล็ตพีซีที่ดี และควรเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น คือ ประเมินผลการใช้แผนการจัดการเรียนรู้แท็บเล็ตพีซี และผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของผู้เรียนที่ใช้แท็บเล็ตพีซีในการจัดการเรียนรู้ และมีความต้องการ คือ การเขียนแผนบูรณาการในการจัดการเรียนรู้ด้วยแท็บเล็ตพีซี เพื่อให้เกิดความเหมาะสมระหว่างเนื้อหาและเวลาเรียน และรวมไปถึงกระบวนการวัดผลประเมินผลทั้งความรู้ของเนื้อหาสระการเรียนรู้ และทักษะการใช้อุปกรณ์ในการเรียนรู้ 3)ด้านสภาพแวดล้อมโดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ย 3.82 ดำเนินการระดับมาก และมองว่ากำหนดแนวทางการจัดสภาพห้องเรียนที่เหมาะสมในการจัดการเรียนรู้การใช้แท็บเล็ตพีซี เช่น ที่นั่ง การถ่ายเทของอากาศ แสงสว่าง แนวทางการใช้แท็บเล็ตพีซีภายในห้องเรียนเป็นที่น่าพอใจ และควรปรับปรุง คือ การส่งเสริมการใช้แท็บเล็ตพีซีในการเรียนรู้ด้วย การจัดทำป้ายประกาศ โปสเตอร์ แผ่นพับ วิดีโอ ป้ายนิเทศ และ การเข้าถึงสัญญาเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สาย (Wireless) ครอบคลุมพื้นที่การในสถานศึกษาและมีคุณภาพที่ดี 4)ด้านกิจกรรมการเรียนรู้โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ย 3.58 ดำเนินการระดับปานกลาง มองว่ามีการ ติดตามจัดการเรียนรู้โดยใช้ Learning Object เป็นสื่อเสริมความรู้หรือทักษะการใช้สื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาของผู้เรียน แต่ควรพัฒนาการประเมินการเรียนรู้โดยใช้ Learning Object เป็นบทเรียนสำหรับได้เรียนรู้ด้วยตนเอง และมีความต้องการเรียนรู้การเขียนแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการด้วยแท็บเล็ตพีซี

คำสำคัญ : แท็บเล็ตพีซี/สภาพปัญหา/การบริหารจัดการ/การเตรียมความพร้อม/สภาพแวดล้อม/กิจกรรมการเรียนรู้
1 อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาการประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร



ความเป็นมาและความสำคัญ
              พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 หมวด 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในบทบัญญัติ มาตรา 64, 65. 66 ที่มีใจความโดยรวมว่ารัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านผลิตและผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร(2551)  
              จากนโยบายของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ นายรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้แถลงต่อที่ประชุมรับสภา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 นโยบายข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของประเทศก็คือ นโยบายการแจก Tablet ประจำตัวนักเรียน “One Tablet Per Child”โดยเริ่มทยอยแจกในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2555 ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงศึกษาธิการ(2554)
              เพื่อสนองนโยบายของภาครัฐตามโครงการ One Tablet Pc per child โปรแกรมวิชาการประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร จึงกำหนดจัดกิจกรรมบริการวิชาการขึ้นภายใต้ชื่อว่า “ราชภัฏกำแพงเพชรวิชาการ ครั้งที่ 9” ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2555  ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร จัดกิจกรรมบริการวิชาการด้านการฝึกอบรมพัฒนาบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์บนแท็บเล็ตพีซี โดยมีกลุ่มผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้า นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป จำนวน 80 คน มีการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาการเรียนการสอนด้วยแท็บเล็ตพีซีตามโครงการ One Tablet Pc per child ของจังหวัดกำแพงเพชรจึงมีแนวทางศึกษาสภาพการใช้แท็บเล็ตพีซีประกอบการเรียนการสอนว่าเป็นอย่างไร
              จากความเป็นมาและความสำคัญที่กล่าวมาข้างตนผู้วิจัยจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาว่าสภาพปัญหาการใช้แท็บเล็ตพีซีของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1 ด้านบริหารจัดการ การเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ ด้านสภาพแวดล้อม ด้านกิจกรรมการเรียนรู้  ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมีโรงเรียนในสังกัดขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รวม 192 โรงเรียน และได้จัดสรรแท็บเล็ตพีซีให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2555 เรียบร้อยแล้วจำนวน 3,877 เครื่อง และจัดการเรียนการสอนไปแล้ว 1 ปีการศึกษา จึงได้กำหนดให้มีการศึกษาข้อมูลดังกล่าวเพื่อจัดได้นำผลการวิจัยมาพัฒนาการศึกษาต่อไป

วัตถุประสงค์การวิจัย
            1. เพื่อศึกษาสภาพการบริหารจัดการ ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ตพีซีสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1
          2. เพื่อศึกษาสภาพการเตรียมความพร้อม ในการจัดการเรียนรู้ ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ตพีซีสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1
            3. เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อม ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ตพีซีสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1
           4. เพื่อศึกษาสภาพกิจกรรมการเรียนรู้ ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ตพีซีสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1
ขอบเขตการวิจัย  ในการวิจัยครั้งนี้ ได้กำหนดขอบเขตการวิจัย ดังนี้
              ขอบเขตด้านประชากร ได้แก่ ครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1 จากจำนวนสถานศึกษา จำนวน 192 แห่ง ประกอบด้วย
             
1 ผู้บริหารสถานศึกษา         จำนวน   158   คน
             
2 ครูผู้สอน                     จำนวน    209   คน
              ขอบเขตด้านตัวแปรตาม ได้แก่
             
1. สภาพการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ตพีซี ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1
              2. ปัญหาการจัดการเรียนสอนโดยใช้แท็บเล็ตพีซี ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1
              3. ความต้องการการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ตพีซี ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1
              ขอบเขตด้านระยะเวลา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือน มีนาคม 2557 
เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย
              แบบสอบถามความคิดเห็น เรื่อง การศึกษาสภาพปัญหาการใช้แท็บเล็ตพีซีของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1 จำนวน 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 (ผู้บริหารสถานศึกษา)  ข้อคำถามจำนวน 5 ตอน และฉบับที่ 2 (ครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1) ข้อคำถามจำนวน 5 ตอน โดยเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานพิจารณาระดับคุณภาพ 5 ระดับ บุญชม ศรีสะอาดและบุญส่ง นิลแก้ว(2535)

ขั้นตอนการดำเนินงาน
              1. การศึกษาสถานภาพความพร้อมใช้แท็บเล็ตพีซี  จากเอกสารและตำราเพื่อเป็นแนวทางการศึกษาสภาพความพร้อมของการใช้แท็บเล็ตพีซี ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นการประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1
              2. สำรวจจำนวนกลุ่มโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1 โดยแยกโรงเรียนออกเป็นกลุ่มเล็ก มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน มีโรงเรียนจำนวน 106 โรงเรียน กลุ่มกลาง มีจำนวนนักเรียน  ตั้งแต่ 121-300 คน มีโรงเรียนจำนวน 78 โรงเรียน กลุ่มใหญ่ มีจำนวนนักเรียน ตั้งแต่ 301 คนขึ้นไป มีโรงเรียนจำนวน 25 โรงเรียน
               3. การศึกษาและพัฒนาเครื่องมือการวิจัย คือ แบบสอบถาม เพื่อกำหนดขอบเขตการศึกษาสภาพปัญหาของการและแนวทางการใช้แท็บเล็ตพีซีในโรงเรียน โดยมีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ ประกอบ ด้วย ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบเครื่องมือ จำนวน 3 ท่าน
              4. วางแผนการเก็บข้อมูลในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 โดยกำหนดพื้นที่ในการเก็บข้อมูล ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต
           5. หลังจากดำเนินการเก็บแบบสอบถามจากผู้ตอบแบบสอบถาม นำมาตรวจสอบความถูกต้องของแบบสอบถามแต่ละฉบับมีความสมบูรณ์ดำเนินการคีย์ข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
                  6. สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามของผู้อำนวยสถานศึกษา และครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เรื่อง การศึกษาสภาพปัญหาการใช้แท็บเล็ตพีซีของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1  
              7. จัดกิจกรรมระดมความคิดสนทนากลุ่มประเด็นเฉพาะ (Focus group) ตามประเด็นและแนวทางจากแบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วยครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 20 คน และนำประเด็นที่ได้จาการสนทนามาทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพร่วมกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม
              8. นำข้อมูลที่ได้จาการสังเคราะห์ข้อมูลจากกิจกรรมสนทนากลุ่ม ตามประเด็นและแนวทางจากแบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วยครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และข้อมูลจากแบบสอบถามของครู และผู้บริหาร เรื่อง การศึกษาสภาพปัญหาการใช้แท็บเล็ตพีซีของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1 เพื่อนำมายืนยันและเป็นแนวทางในการที่จะได้ข้อเสนอแนะจากข้อมูลเชิงคุณภาพที่ครอบคลุมทุกด้าน

วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล
1. การวิเคราะห์ข้อมูลจากการสอบถามความคิดเห็นสภาพปัญหาการใช้แท็บเล็ตพีซีของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1 จำนวน 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 (ผู้บริหารสถานศึกษา) และฉบับที่ 2 (ครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1) โดยใช้ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) บุญชม ศรีสะอาด(2546)  
2. การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้หลักเหตุและผล และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง (Evidence) จากการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (Focus group) ในประเด็นความถูกต้องของข้อมูลการศึกษาสภาพปัญหาการใช้แท็บเล็ตพีซีของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1

ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
              1. ผลการวิเคราะห์สภาพด้านการบริหารจัดการ ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ตพีซี สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1 พบว่า โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ย 3.83 ดำเนินการระดับมาก เมื่อพิจารณาด้านบริหารจัดการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ เข้ารับการอบรมปฏิบัติการใช้แท็บเล็ตพีซี มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.27 และด้านบริหารจัดการที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ แสวงหาความร่วมมือจากชุมชน และองค์กรเอกชนส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แท็บเล็ตพีซี มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 3.33
              สภาพปัญหาด้านการบริหารจัดการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ มีเครือข่ายความร่วมมือจากชุมชน และองค์กรเอกชนส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แท็บเล็ตพีซี มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 2.82
              ความต้องการด้านการบริหารจัดการ ประการแรก คือ การพัฒนาครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้สามารถมีความรู้และทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา ด้านเทคนิควิธีการสอน และสาระการเรียนรู้ ประการที่สอง คือ ด้าน สมรรถนะด้านคุณภาพของอุปกรณ์ ได้แก่ ระบบปฏิบัติการ ความเร็ว ความจำ ความละเอียดของกล้อง แบตเตอรี่มีคุณภาพ และสมรรถนะที่มีคุณภาพที่ดี
              2. ด้านการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ พบว่า โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ย 3.74 ดำเนินการระดับมาก เมื่อพิจารณาด้านเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ที่มีค่าสูงสุด คือ มีการประชุมชี้แจงแนวทางการใช้แท็บเล็ตพีซี ค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.08 และด้านเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ที่มีค่าต่ำสุด คือ ประเมินผลการใช้แผนการจัดการเรียนรู้แท็บเล็ตพีซี มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 3.48
              สภาพปัญหาด้านเตรียมความพร้อมในการจัดการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การประเมินผลความก้าวหน้าทางการเรียนรู้จากเนื้อหาที่เรียน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถปรับปรุงตนเองในการเรียนรู้เนื้อหาสาระได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ค่าเฉลี่ย เท่ากับ 2.61  
              ความต้องการสภาพปัญหาด้านเตรียมความพร้อมในการจัดการ คือ การเขียนแผนบูรณาการในการจัดการเรียนรู้ด้วยแท็บเล็ต เพื่อให้เกิดความเหมาะสมระหว่างเนื้อหาและเวลาเรียน และรวมไปถึงกระบวนการวัดผลประเมินผลทั้งความรู้ของเนื้อหาสระการเรียนรู้ และทักษะการใช้อุปกรณ์ในการเรียนรู้
              3. ด้านสภาพแวดล้อมในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ตพีซี พบว่า โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ย 3.82 ดำเนินการระดับมาก เมื่อพิจารณาด้านสภาพแวดล้อมที่สูงสุด คือ กำหนดแนวทางการจัดสภาพห้องเรียนที่เหมาะสมในการจัดการเรียนรู้การใช้แท็บเล็ตพีซี (Tablet) เช่น ที่นั่ง การถ่ายเทของอากาศ แสงสว่าง แนวทางการใช้แท็บเล็ตพีซี (Tablet)ภายในห้องเรียน เป็นต้น มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 3.96 และด้านสภาพแวดล้อมที่ต่ำสุด คือ ส่งเสริมการจัดทำป้ายประกาศ เผยแพร่ โปสเตอร์ แผ่นพับ วิดีโอ ป้ายนิเทศ เพื่อการประชาสัมพันธ์การใช้แท็บเล็ตพีซี (Tablet) มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 3.34
              สภาพปัญหาด้านสภาพแวดล้อมที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การเข้าถึงสัญญาเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สาย (Wireless) ที่สามารถเชื่อมต่อภายในห้องเรียน และภายในสถานศึกษาอย่างเพียงพอ มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 2.92   
              ความต้องการด้านสภาพแวดล้อม คือ ควรมีการจัดห้องเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้สำหรับการใช้อุปกรณ์ และสาระการเรียนรู้ เช่น มีการถ่ายเทของอากาศ แสงสว่างเพียงพอ มีเครื่องฉายภาพแสดงตัวอย่างสำหรับผู้เรียน อุปกรณ์สำรองกรณีมีปัญหาด้านอุปกรณ์ เครือข่ายไร้สายที่สามารถเข้าถึงได้และมีเสถียรภาพ และมีแนวทางการปฏิบัติการใช้แท็บเล็ตพีซี
              4. ด้านกิจกรรมการเรียนรู้ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ตพีซี โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ย 3.58 ดำเนินการระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาด้านกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีค่าสูงสุด คือ ติดตามจัดการเรียนรู้โดยใช้ Learning Object เป็นสื่อเสริมความรู้หรือทักษะการใช้สื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาของผู้เรียน มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 3.65 และด้านกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีค่าต่ำสุด คือ ประเมินการเรียนรู้โดยใช้ Learning Object เป็นบทเรียนสำหรับได้เรียนรู้ด้วยตนเอง (สืบหาความรู้ ออกแบบ นำเสนอผลงาน ทดสอบความรู้) ของครูรายบุคคล  มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 3.34
              สภาพปัญหาด้านด้านกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีค่าสูงสุด คือ  การประเมินความรู้หรือทักษะการใช้สื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาของผู้เรียนรายบุคคลจากการใช้แผนการเรียนรู้โดยใช้ Learning Object เป็นสื่อเสริม มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 2.71
              ความต้องการด้านกิจกรรมการเรียนรู้ การจัดทำหน่วยใหม่สำหรับการสอน Learning Object เพิ่มเติมจากแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีอยู่ ที่สามารถบูรณาการการศึกษาได้




อภิปรายผล
              1. ควรเตรียมความพร้อมก่อนการจัดการเรียนการสอน ทั้งการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา  ให้มีความรู้และทักษะเกี่ยวกับการใช้สื่อและเทคโนโลยีแต่ละดับการปฏิบัติงาน การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อและพร้อมต่อการเรียนรู้ เช่น ห้องเรียน เครือข่ายไร้สาย บอร์ดป้ายนิเทศในการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษา ฯลฯ การชี้แจงถึงหลักการและแนวทางการศึกษาให้กับชุมชนผู้ปกครอง และปรับความรู้และทักษะพื้นฐานของนักเรียนก่อนเริ่มการเรียนการสอนด้วยแท็บเล็ตพีซี เช่นเดียวกับข้อมูลแนวพัฒนาจากผลการวิจัยของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) กล่าวโดยอธิการบดี ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ความไม่พร้อมของเทคโนโลยีและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่บ้านอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ ซึ่งสิ่งที่ผู้ปกครองและชุมชนต้องการ คือ จัดให้มีการอบรมผู้ปกครอง เพื่อดูแลบุตรหลานได้ และเห็นว่าไม่ควรให้นำแท็บเล็ตกลับบ้าน เพราะจะเกิดปัญหาการดูแลและความปลอดภัย อีกทั้งต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องเครือข่าย WiFi ในระดับชุมชน.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ(2555)
              2. ควรพิจาณาถึงความเหมาะสมระหว่างสื่อเทคโนโลยีทางการศึกษากับวัยของผู้เรียนที่มีความเหมาะสมกันเพื่อให้การใช้เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้  ซึ่งหลักการเลือกสื่อการสอนมี ดังนี้  1)สื่อนั้นต้องสัมพันธ์กับเนื้อหาบทเรียนและจุดมุ่งหมายที่จะสอน 2)เลือกสื่อที่มีเนื้อหาถูกต้อง ทันสมัย น่าสนใจ และเป็นสื่อที่จะให้ผลต่อการเรียนการสอนมากที่สุด ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาวิชานั้นได้ดี เป็นลำดับขั้นตอน 3)เป็นสื่อที่เหมาะสมกับวัย ระดับชั้น ความรู้ และประสบการณ์ของผู้เรียน 4)สื่อนั้นควรสะดวกในการใช้ มีวิธีใช้ไม่ซับซ้อนยุ่งยากจนเกินไป 5)ต้องเป็นสื่อที่มีคุณภาพเทคนิคการผลิตที่ดี มีความชัดเจน และเป็นจริง  6)มีราคาไม่แพงจนเกินไป หรือถ้าจะผลิตเองควรคุ้มกับเวลา และการลงทุน ศูนย์พัฒนาทรัพยากรการศึกษาCARD, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(2555)
              3. ครูผู้สอนควรได้รับการพัฒนาในการนำเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้ประกอบการเรียนการสอนในระดับการชั้นประถมศึกษา รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา แนวทางแรกคือพัฒนาทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประกอบไปด้วย การคิดวิเคราะห์ (Critical thinking) การสื่อสาร (Communication) ความร่วมมือ (Collaboration และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และแนวทางที่สองการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษากับการ  บูรณาการเรียนการสอนระหว่างเทคโนโลยีการศึกษา เทคนิควิธีการสอน และสาระการเรียนรู้ โดยนำรูปแบบ TPACK Model รูปแบบนี้ต้องการให้ความรู้แก่ครูเพื่อการบูรณาการไอซีที ที่มีประสิทธิผล โดยที่ครูจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี การเรียนการสอน ความรู้ด้านเนื้อหาที่ปฏิสัมพันธ์กันเพื่อประสิทธิผลของการสอนในรายวิชาโดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุนประกอบไปด้วย  ความรู้ด้านเนื้อหา (Content knowkledge) เป็นความรู้เกี่ยวกับวิชาการที่จะให้สิ่งที่เรียนหรือสิ่งที่จะสอน  ความรู้ด้านศิลปะการเรียนการสอน (Padagogical knowledge) เป็นความรู้ที่ใช้ประยุกต์แนวทางการเรียนให้กับผู้เรียน การจัดชั้นเรียนและการประเมินผลซึ่งเป็นความรู้ที่ลุ่มลึกเกี่ยวกับกระบวนการและการปฏิบัติหรือวิธีการสอนนั่นเอง และความรู้ด้านเทคโนโลยี (Technological knowledge) เป็นความรู้เกี่ยวกับความสามารถที่ครูจะต้องใช้อุปกรณ์ไอซีที การบูรณาการไอซีทีสาหรับครู รศ.ดร.ประหยัด จิระศิริพงศ์(2553)
------------------------//-----------------------


อ้างอิง
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2551). รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550.
              กรุงเทพฯ : สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงศึกษาธิการ. (2554). โครงการ One Tablet Pc per child. กรุงเทพฯ :        
             กระทรงศึกษาธิการ.
บุญชม ศรีสะอาดและบุญส่ง นิลแก้ว. (2535). การอ้างอิงกลุ่มประชากรเพื่อใช้เครื่องมือแบบ
             มาตราส่วนประมาณค่ากับกลุ่มตัวอย่างการวัดผลการศึกษา. มหาสารคราม :
             มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาสารคราม
บุญชม ศรีสะอาด. (2546). การวิจัยสำหรับ. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาสน์.
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ. (2555). ผลวิจัย มศว ชี้ชัดแจกแท็บเล็ต ป.1 ไม่คุ้ม. ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 11 พฤษภาคม 2555. สืบค้นจาก http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?
             NewsID=9550000058346/. เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556.
ศูนย์พัฒนาทรัพยากรการศึกษา(CARD). (2555). หลัการเลือกใช้สื่อการสอน. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
             กันทรวิชัย
: จังหวัดมหาสารคาม.
รศ.ประหยัด จิระศิริพงศ์. (2553). การบูรณาการไอซีทีสาหรับครู. บทความวิชาการ ปีที่ 12 ฉบับที่ 2
             พฤษภาคม
-สิงหาคม 2553. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.